การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องธนากร ชั้น 3 มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการ จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) เพื่อนำเสนอสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินการ แผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดงานโยธารถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็วและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งเกิดการการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนั้นเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในขณะดำเนินการก่อสร้างโครงการยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
โครงการดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟ นาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย โดยออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่ง ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคาย 3 ชั่วโมง 15 นาที
ส่วนรูปแบบแนวคิดการออกแบบสถานี มีแผนการดำเนินงานออกแบบให้มีการผสมผสานแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคอีสานและให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และสถานีรถไฟทางคู่ปัจจุบัน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอาจทำให้รายละเอียดของโครงการระยะที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำไว้จึงจำเป็นต้องทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวตสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการมีส่วนร่วม
จากนั้น จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 1 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ